The Quotes are powered by Investing.com

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

ทองคำโลกฟื้นช่วงสั้นระยะยาวผันผวนหนัก

ทองคำโลกฟื้นช่วงสั้นระยะยาวผันผวนหนัก
โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์
ตลาดทองคำโลกถึงกับสั่นสะท้าน เมื่อกลุ่มนักลงทุนในทองคำรายใหญ่ต่างพากันเทขายออกมาอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็น พอลสัน แอนด์ โค ของจอห์น พอลสัน ที่ลดพอร์ตการลงทุนในกองทุนทองคำเอสพีดีอาร์ โกลด์ ทรัสต์ ลงไปมากถึง 53% ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยลดการถือครองในกองทุนทองคำจาก 21.8 ล้านสัญญา ในช่วงไตรมาสแรก ลงมาเหลืออยู่ที่ 10.2 ล้านสัญญา ขณะที่ จอร์จ โซรอส และเจ.พี.มอร์แกน เชส ก็หันมาลดการลงทุนในทองคำลงเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ สภาทองคำโลก (ดับเบิลยูจีซี) ก็ออกรายงานมาว่า ปริมาณความต้องการทองคำในตลาดโลก ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยลดลงถึง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงจาก 974.3 ตัน มาอยู่ที่ 856.3 ตัน ส่วนธนาคารกลางทั่วโลกก็หันมาลดการสะสมทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศลงเช่นกัน โดยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว ลดลงมากถึง 57% มาอยู่ที่ 71.1 ตัน
ส่วนในปีนี้ ราคาทองคำโลกได้ปรับตัวลดลงไปมากกว่า 1 ใน 5 แล้ว โดยเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ราคาทองคำได้ลงไปแตะที่จุดต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 1,180.71 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่านักลงทุนและเหล่าบรรดาแบงก์ชาติทั่วโลกต่างมองว่ามูลค่าและราคาในทองคำจะลดต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลว่าการใช้นโยบายอัดฉีดผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและสินทรัพย์ (คิวอี) เดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะมีการลดปริมาณลงเร็วกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจแดนมะกันเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ เห็นได้จากตัวเลขการจ้างงานที่ดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางดังกล่าวจะเป็นตัวบ่งบอกว่าทิศทางทองคำโลกจะเข้าสู่ขาลงอย่างหนัก ทว่าในอีกแง่มุมหนึ่งนั้นนักวิเคราะห์อีกเป็นจำนวนมากกลับมองว่าราคาทองคำในอนาคตน่าจะกลับมาสู่ช่วงฟื้นตัวขึ้นมากกว่าที่จะลดลง
เนื่องจากปัจจัยจากราคาทองได้เลยจุดที่ต่ำที่สุดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะเริ่มฟื้นขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ความต้องการซื้อทองเพื่อนำไปเป็นเครื่องประดับทั่วโลก โดยเฉพาะจากอินเดียและจีนนั้นยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมยังคาดว่าจะช่วยดันให้ราคาทองพุ่งขึ้นอีกใน 12 เดือนข้างหน้านี้อีกด้วย
ยืนยันได้จากรายงานของดับเบิลยูจีซี ฉบับล่าสุดที่เผยว่า ทั้งๆ ที่ความต้องการทองคำทั่วโลกลดลง แต่ในแง่ของความต้องการซื้อเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องประดับ อัญมณี และเหรียญทองคำ ทั่วโลกกลับเพิ่มขึ้นมากสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยเพิ่มสูงขึ้นถึง 53% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว หรือที่ 1,083 ตัน ทั้งนี้ ความต้องการซื้อทองดังกล่าวมาจากอินเดียและจีน
ริก สปูนเนอร์ นักวิเคราะห์ด้านการตลาดของซีเอ็มซี มาร์เก็ต เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ถึงแม้พอลสัน แอนด์ โค จะลดการถือครองในกองทุนทองคำมากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่นั่นถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าช่วงขาลงของราคาทองคำโลกมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว และราคาจะเริ่มปรับตัวขึ้น โดยเห็นได้จากราคาทองคำเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากสุดในรอบ 2 เดือนที่ 1,372 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และคาดว่าอีกไม่กี่สัปดาห์จะขึ้นไปอยู่ที่ 1,4201,490 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์
ความเห็นของนักวิเคราะห์ดังกล่าวสอดรับกับผลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่เผยว่า นักวิเคราะห์ด้านทองคำถึง 13 จากทั้งหมดที่ไปสำรวจ 22 คน ระบุว่าทองคำในสัปดาห์นี้จะเริ่มฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากความต้องการซื้อทองคำเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องประดับยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่ราคาทองในขณะนี้ถือว่าถูกอยู่
“ผู้คนซื้อทองคำรูปพรรณเก็บไว้เพื่อสะสมความมั่งคั่งในระยะกลางและระยะยาว ตรงกันข้ามกับกองทุนที่ลงทุนในทองคำที่มีจุดประสงค์เพื่อต้องการเข้ามาเก็งกำไรมากกว่า” มาร์ค โอไบรเน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของโกลคอร์และโบรกเกอร์ขายทองคำแท่งและเหรียญทองคำ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก พร้อมเสริมว่า ความต้องการทองคำแท่งยังคงสูงอยู่ เพราะราคาทองในขณะนี้ถือว่าน่าลงทุนมาก
ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ไปต่างๆ นานา แต่ความเห็นทั้งหมดทั้งมวลนี้ยังไม่อาจเชื่อถือและนำมาคาดการณ์ทิศทางราคาในตลาดทองคำโลกได้เสียทั้งหมด เพราะจากปัจจัยทั้งของฝ่ายที่เห็นว่าราคาทองจะลดลงกับฝ่ายที่คิดว่าจะเพิ่มขึ้นนั้น ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดทิศทางราคาทองคำโลกมีความซับซ้อนและหลากหลายมากในปัจจุบัน ดังนั้น การมองทิศทางการลงทุนทองในระยะกลางถึงยาวจึงยังไม่อาจคาดการณ์ได้อย่างแน่ชัดว่าจะออกมาในทิศทางใดกันแน่
ขณะเดียวกัน ปัจจัยความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในช่วงครึ่งๆ กลางๆอยู่ อาจทำให้ราคาทองคำโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องจับตาในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ ที่เฟดจะมีการประชุมว่า สุดท้ายแล้ว เฟดจะลดการใช้นโยบายคิวอีเดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตามที่ถูกคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในเดือน ก.ย.นี้ เฟดจะลดคิวอีลงจริง แต่ในแง่ของความเป็นจริงแล้ว ความเสี่ยงในด้านเงินเฟ้อโลกก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ธนาคารกลางของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างยูโรโซน อังกฤษ ญี่ปุ่น ยังคงมีแนวโน้มว่าจะยังคงเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ จึงทำให้ความต้องการลงทุนในทองคำเพื่อเป็นเกราะคุ้มกันจากภาวะเงินเฟ้อก็ยังมีอยู่
ดังนั้น การลงทุนทองคำในระยะนี้จึงต้องใช้ความระมัดระวัง และพิจารณาพร้อมกับวิเคราะห์ข้อมูลแบบชอร์ตต่อชอร์ตกันเลยทีเดียว

การเงินสุดโต่งหลังทุกประเทศQE

การเงินสุดโต่งหลังทุกประเทศQE
โดย...ภาววิทย์ กลิ่นประทุม ที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
ย้อนกลับไปปี 2008 หลายๆ คนคงจำวิกฤต Sub-Prime ที่เริ่มจากการล้มลงของ Lehman Brother ครั้งนั้น เกิดภาวะสภาพคล่องตึงตัวสุดขีด เรียกได้ว่า เงินที่เคยหมุนเวียนในโลกเกิดภาวะชะงัก ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Wall-Street 2 หรือแนวบู๊ล้างผลาญแบบ Margin-call ในโลกการเงิน (การบู๊ล้างผลาญในโลกการเงิน กับบู๊แบบ Hollywood จะต่างกันตรงที่ Wall-Street จะเป็นการบู๊แบบใช้สมอง คือ คมตัดคม ชนะกันที่ความคิดและมุมมอง แต่ผู้แพ้มักจบด้วยเลือด คือ ถ้าเป็นหนัง Hollywood ผู้แพ้จะอาบเลือดตายด้วยลูกกระสุนปืน แต่ใน Wall-Street ผู้แพ้จะขึ้นไปยืนบนตึกสูง เพื่อโดดตึกตายนั่นเอง... นั่นแหละโหดแบบนิ่มๆ)
ในเวลานั้นปี 2008 หากใครทำธุรกิจจะทราบเลยว่า Order สินค้าต่างๆ หยุดสั่ง แทบไม่มีการซื้อขายสินค้า ทุกคนตะลึง ...วันนั้นรัฐบาลอเมริกาตัดสินใจอย่างด่วนในการทำ QE (Quantitative Easing : ในความเข้าใจง่ายๆ ของ QE ก็คือ การพิมพ์เงินออกใช้นั่นเอง) หลายคนอาจจะมองว่าดี พอเงินฝืด รัฐบาลก็แค่พิมพ์เงินเพิ่มก็หายฝืด คิดดีๆ นะ มันง่ายแค่นั้นจริงๆ หรือเปล่า แน่นอนไม่ใช่!! ถ้าใครเคยอ่านประวัติศาสตร์ของรัฐบาลที่พิมพ์เงินจนเกิด Hyper-inflation คือ พิมพ์เงินจนเงินตัวเองไร้ค่า มันเคยเกิดตั้งแต่เยอรมนี มาจนถึงล่าสุดไม่นานมานี้ก็ ซิมบับเว ...ลองนึกภาพเยอรมนี ใครจะเคยคิดว่า ครั้งหนึ่งประเทศเยอรมนีเคยพิมพ์เงินจนเงินไร้ค่าเป็นแค่กระดาษ
มาคุยในเรื่อง Hyper-inflation กันก่อนว่า มันเกิดขึ้นได้ยังไง? สาเหตุหลักๆ ของเงินเฟ้อสุดโต่งเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีเงินมากเกินไป (รัฐบาลพิมพ์เงินออกมาเยอะ-การเพิ่ม Supply ของเงินจะทำให้เงินที่มีอยู่ในระบบลดมูลค่า เมื่อเงินลดมูลค่า สิ่งที่อยู่ตรงข้ามเงิน เช่น Asset ข้าวของ อาหาร ย่อมราคาสูงขึ้นสวนทาง) ความยากในฐานะของรัฐบาลในการควบคุมและกำหนด Supply ของเงิน ก็คือ เวลาเงินเฟ้อมันเกิดมันจะเฟ้อแบบช้า แต่พอมันถึงจุดหนึ่ง มันจะเกิดการระเบิดของเงินเฟ้อ ถ้าเทียบเป็นกราฟของเงินเฟ้อ มันจะมีการขึ้นลงเป็นแบบ Exponential-ค่อยๆ เกิดขึ้นช้า แล้วระเบิดขึ้น ทำให้การควบคุมของเงินเฟ้อทำได้ยากมากๆ เพราะในช่วงต้นๆ ของการพิมพ์เงิน มันจะเหมือนว่ารัฐบาลสามารถพิมพ์เงินแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในระยะสั้น เพราะมีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น แต่พอรัฐบาลทำไปสักพักมันจะเริ่มเกิดการระเบิดแบบขึ้นเร็วสุดๆ ของเงินเฟ้อจนไม่สามารถควบคุมได้ นั่นแหละปัญหา เพราะราคาค่าครองชีพและสินค้าจะแพงแบบบ้าเลือดในระยะเวลาอันสั้น ...พังทั้งประเทศ!!
“คำถาม คือ วันนี้ที่อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างลุกขึ้นมาทำ QE พร้อมๆ กัน ในปี 2013 มันจะกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลก?” ...ตอบง่ายๆ เลยว่า ทุกรัฐบาลใหญ่ๆ ของโลกพิมพ์เงิน ก็ย่อมต้องกระทบต่อราคา Asset ในระยะยาวแน่นอน ถ้าให้หลับตาพร้อมกันแล้วนึกภาพดูว่า สิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังทำ คือ การเพิ่ม Supply เงิน ซึ่งเป็น Base Money ถ้าผมสมมติว่า ปี 2008 ที่เราเกิดวิกฤต มันเริ่มจากการปั่นเงินของระบบธนาคารและธนาคารเงา (Shadow Banking) ที่ปั่นเงินในรอบนั้นขึ้นมาทำให้สภาพคล่องในโลกล้นหลามก่อนปี 2008 ในช่วงเวลานั้นการกู้ยืมเงินทั่วโลกทำได้ง่ายมาก เพราะทุกธนาคารพยายามปล่อยกู้เกินตัวสุดๆ เวลานั้นขนาดตลาดซื้อขายบ้าน เขายังปล่อยกู้กับคนตกงานด้วยซ้ำ เพราะทุกอย่างที่เสี่ยงเขาก็เอามาขมวดเป็น Sub-Prime แล้วเอาไปให้บริษัทประกัน อย่าง AIG ไปลงทุนในสิ่งเสี่ยงเหล่านี้ ...บทสรุปของความไม่สมเหตุสมผลของเศรษฐกิจในปี 2008 ทำให้เกิดวิกฤต Sub-Prime อยากเล่าให้ฟังนิดหนึ่งว่า จาก Base Money หรือเงินเริ่มต้นที่รัฐบาลพิมพ์ออกมา มันสามารถปั่นให้เกิดสภาพคล่องเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 9 เท่า ซึ่งเท่ากับว่า หากเงินที่รัฐบาลพิมพ์เพิ่ม 1 ดอลลาร์ หากหมุนเงินแบบเต็มๆ โดยธนาคารและระบบการเงิน จะทำให้ 1 ดอลลาร์นั้นเพิ่มขึ้นมาเป็น 9 ดอลลาร์ ...เอาล่ะเล่ามาถึงตรงนี้ คุณเห็นปัญหาเหมือนที่ผมเห็นไหม?
ปัญหาที่กำลังก่อตัว คือ “การเพิ่ม Supply ของเงิน จากอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น” จะส่งผลให้ Base Money หรือเงินเริ่มต้นของทั้งโลกมันเพิ่มขึ้น นั่นเท่ากับว่า เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจเริ่มดี เงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นแบบบ้าคลั่ง และแทบจะไม่มีทางเลยที่รัฐบาลประเทศต่างๆ จะสามารถดึงเงินออกมาได้ทัน ดังนั้น เงินเฟ้อที่บ้าคลั่งกว่าปี 2008 จะเกิดขึ้นอีกครั้ง และนั่นเท่ากับว่ามูลค่าของ Asset จะขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงเวลาดังกล่าว ...ที่เล่ามาผมไม่ได้อยากให้เรากลัวการเงิน แต่อยากจะอธิบายให้เราเข้าใจ แล้วหาวิธีป้องกันตัวเราเอง
ใช่!! จะหวังให้รัฐบาลป้องกันความเสี่ยงของระบบการเงินคงเป็นไปไม่ได้ เพราะที่เห็นๆ วันนี้ขนาดรัฐบาลอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ยังเอาตัวเองไม่รอดเลย ดังนั้น เราต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรอรับความผันผวนและความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้น ...ซึ่งการตั้งรับความเสี่ยง ก็คือ การเข้าใจจังหวะและโอกาส ให้รู้ว่าวิกฤตจะมาถี่ขึ้น ความผันผวนจะมากขึ้น แต่ให้จำเสมอว่า ทุกครั้งที่โอกาสเกิด ราคา Asset ผันผวนและร่วงรุนแรง ก็เป็นจังหวะที่เราควรจะเก็บสะสม Asset ให้ได้มากที่สุด --- เอาไว้คราวหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังว่า เราจะรับมือต่อภาวะผันผวนและรวยขึ้นจากราคา Asset ร่วง และหุ้นตกแรงๆ ได้อย่างไร!!

เซียนชี้ทองดิ่งยาวถึงปีหน้า

เซียนชี้ทองดิ่งยาวถึงปีหน้า
สองสถาบันการเงินรายใหญ่ของโลกเตือนราคาทองคำดิ่งเหวระยะยาว
ธนาคารซิตี้ กรุ๊ป และมอร์แกน สแตนเลย์ สองสถาบันการเงินรายใหญ่ในสหรัฐคาดการณ์ว่า ราคาทองคำจะดิ่งลงแรงในปีนี้จนถึงปีหน้า นอกจากนี้ธนาคาร โซซิเอเต เจเนราล ของฝรั่งเศสยังได้ออกคำแนะนำให้นักลงทุนเทขายทองคำออกไปด้วย
เอ็ด มอร์ส และฮีธ แจนเซ็น สองนักวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ป ระบุว่า ราคาทองคำอาจจะดิ่งลงต่ำกว่า 1,250 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ก่อนจะสิ้นสุดปีนี้ โดยมีปัจจัยหลักๆ มาจากเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งขึ้น และเฟดจะลดขนาดของคิวอีลง
เมื่อเวลา 20.45 น.ของวันที่ 23 ก.ย.ตามเวลาของประเทศไทย ราคาทองในตลาดสหรัฐ ยังคงอ่อนตัวลงต่ออีก 13 เหรียญสหรัฐ ซื้อขายที่ 1,319 เหรียญสหรัฐ
ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.ได้ติดตามตลาดการซื้อขายทองคำอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่มีการชำระราคาทันที (สปอต) ที่ยังไม่มีกฎหมายดูแลโดยตรง
สำหรับตลาดที่มี พ.ร.บ.ล่วงหน้าดูแลอยู่แล้วไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนกลุ่มที่อยู่นอก พ.ร.บ.จะทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ธปท.ยังดูอยู่ แต่เป็นการดูในลักษณะระมัดระวังเพื่อไม่ให้เป็นปัญหามากกว่านี้ และส่วนหนึ่งต้องการทำหน้าที่ดูแลผู้บริโภคด้วย
“ที่ผ่านมาเงินเหรียญสหรัฐและสกุลเงินสำคัญเปลี่ยนเร็ว ตลาดการเงินโลกก็ปั่นป่วนไม่น้อย ซึ่งไปสัมพันธ์กับทองคำ ทำให้ผันผวนพอประมาณ แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ธปท.ต้องทำหน้าที่ และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการติดตามดูมีการซื้อขายเงินเหรียญสหรัฐมากกว่าทองคำที่นำเข้าส่งออกบ้าง”นายประสาร กล่าว
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อประสานงานจาก ธปท.ในเรื่องดังกล่าว
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สมาคมได้เสนอให้ออกกฎหมายมาดูแลการซื้อขายสัญญาซื้อขายทองคำในตลาดสปอต เพราะพบว่ามีการจัดตั้งโบรกเกอร์ซื้อขายทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก โบรกเกอร์บางรายไม่มีที่มาที่ไป ซึ่งอาจสร้างความเสียหายกับลูกค้าได้หากปิดสำนักงานหนี จึงเห็นด้วยหากจะออกมาคุมเข้มการซื้อขายออนไลน์ในตลาดสปอต
อย่างไรก็ตาม หาก ธปท.จะออกกติกาใดมา ขอให้เชิญสมาคมเข้าร่วมหารือด้วย เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ตรงจุด หากควบคุมธุรกิจค้าทองทั้งหมด อาจจะเป็นปัญหาต่อภาพรวมตลาดทองคำได้